ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. มีมติต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน โดยอ้างความจำเป็น 3 ข้อใน การใช้อำนาจแก้ปัญหาอย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ขณะที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ชี้แจงว่าการต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินครั้งนี้ไม่มีเรื่องการห้ามการชุมนุมและ "เป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุขจริง ๆ"
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการและประธานการประชุม มีมติวันนี้ (22 ก.ค.) เห็นชอบให้ขยายการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินต่ออีก 1 เดือน สิ้นสุดที่ 31 ส.ค. ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอมาเพื่อขออนุมัติในหลักการ โดยเครื่องดังกล่าวจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ สมช.ได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็นที่ยังให้คง พ.ร.บ.ฉุกเฉินต่อไปอีก 3 ประการ ประกอบด้วย
1.จำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง การจัดทำระบบติดตามตัวการกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และมาตรการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง
2.จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นมารองรับในอนาคต
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "เป็นเครื่องมือเดียวในขณะนี้"
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช. ) ชี้แจงเหตุของการเสนอให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ทั้งฝ่ายความมั่นคง หน่วยข่าวกรองและฝ่ายสาธารณสุข เห็นตรงกันว่าจะต้องมีกฎหมายลักษณะนี้ต่อไปอีก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังมีมากถึงราว 2 แสนคนต่อวัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงและรายล้อมไทยอยู่ในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเปิดประเทศมากขึ้น เช่น การรับแรงงานต่างด้าว นักท่องเที่ยว การจัดประชุมและถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งล้วนเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข
"เครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่จะประกันได้ว่า สิ่งที่เราอนุญาตในเชิงธุรกิจและเชิงเศรษฐกิจจะถูกชั่งน้ำหนักโดยมาตรการทางสาธารณสุข โดยเครื่องมือเพียงอย่างเดียวในขณะนี้ที่มีอยู่ก็คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" เลขาธิการ สมช. กล่าว
เตรียมเสนอ ครม.ให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยไม่มีมาตรการห้ามการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม พล.อ.สมศักดิ์ ระบุว่า เพื่อความสบายใจของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาทางการได้ใช้ มาตร 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อย่างเบาที่สุด เช่น ยกเลิกคำสั่งห้ามการออกนอกเคหะสถานในยามค่ำคืนหรือเคอร์ฟิว แต่ในการต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ครั้งนี้จะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะต่ออายุไปตลอดเดือน ส.ค.นี้ มีเจตนาเพื่อใช้ควบคุมโรคโดยบริสุทธิ์ใจ
"การห้ามการชุมนุมจะไม่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะต่อไปอีกหนึ่งเดือน แต่การชุมนุมทางการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่เป็นกฎหมายปกติ" เลขาธิการ สมช.กล่าว "เราจะเสนอ ครม.ให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีกหนึ่งเดือน โดยไม่มีมาตรการห้ามการชุมนุมและเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางสาธารณสุขจริง ๆ"
มีอะไรในมาตรา 9 มาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ระบุว่าในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนดข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้
วิษณุ แจง เหตุไม่สามารถใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเฉพาะพื้นที่ได้
ในช่วงเช้าที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงความจำเป็นในการคงประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินทั่วประเทศไว้ เพราะว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ติดต่อกันทางอากาศ และไม่สามารถกระชับพื้นที่ได้เหมือนกับการก่อเหตุความไม่สงบเมื่อปี 2557-2558
นอกจากนี้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังมีประโยชน์ในแง่ของการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคงอย่างตำรวจและทหาร ซึ่งหากใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อจะไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้
"สิ่งที่ได้ประโยชน์จากการใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คือการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดให้สนธิกำลังแบบนี้ได้ เพราะพ.ร.บ.โรคติดต่อ นั้นแพทย์เป็นคนใช้ ไปสั่งหน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไม่ได้ หากใช้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ ประเทศไทยมี 77 จังหวัด ก็จะมี 77 มาตรฐาน ด่านเข้าออกและด่านผ่อนปรน 70 ด่าน ก็จะมี 70 มาตรฐาน และนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถลงไปสั่งงานละเอียดในแต่ละด่านได้" นายวิษณุอธิบาย
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้การมีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะเป็นมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันที่สุด เพราะบางอย่างเรายอมให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ดุลพินิจได้ และสามารถบูรณาการการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่เข้ามาร่วมทำงานเป็นจำนวนมากได้ แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่สามารถไปสั่งงานทหารและตำรวจได้
ส่วนที่หลายฝ่ายเสนอให้บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเฉพาะพื้นที่ ไม่ต้องครอบคลุมทั่วประเทศนั้น นายวิษณุกล่าวว่ามีความกังวลว่าผู้คนจะเคลื่อนย้ายไปในพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะโควิด-19 แพร่ไปทางอากาศจึงไม่สามารถ "กระชับพื้นที่" การระบาดได้
ผ่อนปรนระยะที่ 6
นอกจากนี้ โฆษก ศบค. ยังได้พูดถึงมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 6 ว่าจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศทั้งหมด 4 กลุ่ม เพื่อเข้ามาขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ได้แก่
- กลุ่มจัดการแสดงสินค้าในประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
- กลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศ
- กลุ่มแรงงาน 3 สัญชาติ ได้แก่ ลาว เมียนมา และกัมพูชาที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมอาหารและก่อสร้าง
- กลุ่มที่เข้ามารักษาโรค (Medical Wellness) ศัลยกรรมเพื่อความสวยงามและการผดุงครรภ์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่าง ๆ ข้างต้นจะต้องมีการกักตัว 14 วัน
ลำดับเหตุการณ์โควิด-19 ระบาดในไทย
- 13 ม.ค.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันพบผู้ติดเชื้อในไทยรายแรก เป็นนักท่องเที่ยวจีน ยังไม่พบการระบาดในประเทศ
- 31 ม.ค.พบการติดเชื้อในประเทศ (local transmission) รายแรก เป็นคนขับแท็กซี่
- 24 ก.พ.คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย
- 1 มี.ค.รายงานผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นชายไทยอายุ 35 ปี
- 17 มี.ค.ครม.มีมติสั่งปิดโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ
- 22 มี.ค.กทม. สั่งปิดสถานที่เสี่ยง 26 ประเภท
- 26 มี.ค.รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักร มีผลถึง 30 เม.ย.
- 3 เม.ย.รัฐบาลประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ทั่วประเทศ 22.00-04.00 น
- 4 เม.ย.สำนักงานการบินพลเรือนฯ ประกาศห้ามทุกสายการบินบินเข้าไทยเป็นการชั่วคราว
- 27 เม.ย.ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 1 ถึง 31 พ.ค.
- 3 พ.ค.ศบค.ผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 1 ให้กิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ 6 ประเภทกลับมาเปิดบริการได้
- 13 พ.ค.ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เลยเป็นวันแรก
- 17 พ.ค.ศบค.ผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 อนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้า สถานออกกำลังกายบางส่วน และปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00-04:00 น.
- 22 พ.ค.ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 2 ถึง 30 มิ.ย.
- 1 มิ.ย.ศบค.ผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 และปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00-03:00 น
- 12 มิ.ย.ศบค.มีมติให้ยกเลิกเคอร์ฟิวและผ่อนปรนมาตรการระยะ 4 เริ่ม 15 มิ.ย.
- 29 มิ.ย.ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3 ถึง 31 ก.ค.
- 1 ก.ค.ผ่อนปรนมาตรการระยะ 5 , โรงเรียนเปิดการเรียนการสอน
- 22 ก.ค.ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 4 ถึง 31 ส.ค.
"ความหวาดกลัว" - Google News
July 22, 2020 at 01:04PM
https://ift.tt/2OKTcpJ
โควิด-19: ศบค. ต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 4 ยืนยันไม่ห้ามการชุมนุม - บีบีซีไทย
"ความหวาดกลัว" - Google News
https://ift.tt/2XpGqCo
No comments:
Post a Comment