Pages

Tuesday, July 21, 2020

วางความกลัวไว้ตรงนั้น เพราะเราใช้ชีวิตกันตรงนี้ ภูมิคุ้มกันโควิด-19 ที่เราจำเป็นต้องมีร่วมกัน - thestandard.co

hitagajah.blogspot.com

ข่าวบุตรของอุปทูตซูดานและทหารอียิปต์ป่วยเป็นโควิด-19 แต่ไม่ได้ถูกกักกันในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ตั้งแต่แรก สร้างความหวาดกลัวว่าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นมาอีกครั้ง (แน่นอนว่ามีความโกรธปนอยู่ด้วย) 

ข่าวแรกเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ส่วนข่าวหลังเกิดขึ้นที่ระยอง แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2563 และ ศบค. ได้แถลงรายละเอียดการสอบสวนโรคเบื้องต้นในวันจันทร์ของสัปดาห์ที่ผ่านมา

คอนโดมิเนียมที่กรุงเทพฯ ปิดพื้นที่ส่วนกลาง และห้างสรรพสินค้าที่ระยองปิดทำการเพื่อทำความสะอาด 1 วัน โรงแรมปิดตัวโดยไม่มีกำหนด โรงเรียนในจังหวัดระยองปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน ตามมาด้วยการปิดโรงเรียนในกรุงเทพฯ 2 แห่ง เพราะนักเรียนมีความเชื่อมโยงกับจังหวัดระยอง โรงเรียนในบุรีรัมย์ก็ปิดตามไปด้วย ผู้ว่าราชการหลายจังหวัดประกาศให้ประชาชนที่เดินทางกลับจากสองจังหวัดนี้ต้องกักตัว 14 วัน!

โรงแรมในระยองถูกยกเลิกการจอง ถึงแม้จะไม่ใช่โรงแรมที่ทหารอียิปต์เข้าพัก ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวชาวระยองก็ถูกยกเลิกที่พักในจังหวัดอื่นๆ ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ความหวาดกลัวต่อโควิด-19 แผ่ขยายอย่างไร้ขอบเขต ระหว่างที่เรากำลังรอ ‘ภูมิคุ้มกันชีวภาพ’ จากการคิดค้นวัคซีนของนักวิทยาศาสตร์ในปีหน้า เราจะต้องเสริมสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันจิตใจ’ จากทั้งความหวาดกลัวของเราและความตื่นตระหนกของคนอื่นด้วย

เพราะ ศบค. มีแนวโน้มที่จะเปิดประเทศมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ ไม่ว่าจะรับนักธุรกิจเข้ามาเจรจาธุรกิจ รับนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยว รับผู้ป่วยเข้ามารักษาโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19 และรับแรงงานต่างชาติเข้ามาเป็นกำลังหลักในภาคการผลิตและบริษัทก่อสร้าง โอกาสที่จะ ‘พบ’ ผู้ป่วยโควิด-19 จึงมีความเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่โอกาสที่จะ ‘ระบาด’ หากมีระบบควบคุมและป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ

ความหวาดกลัวว่าจะติดเชื้อ

ความหวาดกลัวต่อสองกรณีที่กรุงเทพฯ และระยองน่าจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ ความหวาดกลัวว่าตนเองจะติดเชื้อ และความหวาดกลัวว่าว่าคนอื่นจะแพร่เชื้อ ขณะที่ตอนนี้เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 4 เดือนแรกของการระบาด ดังนั้นเมื่อมีข่าว ‘พบ’ ผู้ป่วยโควิด-19 ขึ้นมา สิ่งที่เราต้องทำคือนำเอาความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นขีดเส้นจำกัดความกลัวของเราให้เร็วที่สุด

ผมขอสรุปความรู้ความเข้าใจของการติดเชื้อโควิด-19 เป็น 3 ข้อด้วยกันคือ 

  1. การติดเชื้อจะต้องมีแหล่งของเชื้อ หมายถึงจะต้องมีผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกันกับเรา โดยผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้มากก็ต่อเมื่อเขามีอาการ เช่น เมื่อมีอาการไอก็จะไอเอาเชื้อออกไปติดคนรอบข้างได้ (ผู้ป่วยในประเทศไทย 1 ใน 4 ไม่แสดงอาการ) แต่ถ้าผู้ป่วยสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย โอกาสที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นก็น้อยลง
  1. การติดเชื้อจะต้องมีการสัมผัสใกล้ชิด เนื่องจากไวรัสชนิดนี้ติดต่อผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะเป็น ‘ช่องทางหลัก’ การสัมผัสสารคัดหลั่งเหล่านี้แล้วนำมาสัมผัสตา จมูก ปาก เป็น ‘ช่องทางรอง’ ส่วนการติดต่อผ่านทางอากาศ (Airborne) จะต้องมีการกระตุ้นให้เกิดละอองขนาดเล็กก่อน เช่น การพ่นยา การใส่ท่อช่วยหายใจ ดังนั้นการสัมผัสใกล้ชิดจึงเป็นลักษณะของการพูดคุยในระยะ 1 เมตร หรือการไอจามรดโดยตรง

นอกจากนี้ยังมีระยะเวลาในการสัมผัสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยถ้าเป็นการพูดคุยในระยะ 1 เมตร จะต้องพูดคุยกันนานเกินกว่า 5 นาทีจึงจะมีโอกาสติดเชื้อ แต่ถ้าเป็นสถานที่ปิด เช่น ห้องปรับอากาศ รถโดยสารสาธารณะ หรือนึกถึงข่าวโบสถ์ในเกาหลีใต้ ก็จะมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้นหากอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเป็นระยะเวลานานกว่า 15 นาที ดังนั้นถ้าเราเข้าพักที่โรงแรมเดียวกับทหารอียิปต์ แต่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดหรือไม่แม้แต่เจอหน้ากันก็ถือว่าไม่มีความเสี่ยง

  1. การสวมหน้ากากเป็นการป้องกันการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่คลุมทั้งจมูกและปาก โดยที่ไม่ได้นำมือหยิบจับใบหน้าหรือหน้ากากบ่อยครั้ง ถือเป็นการป้องกันการสูดเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกาย เหมือนกับการสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นหากเราสวมหน้ากากจนเป็นนิสัยก็จะเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

เมื่อทีมสอบสวนโรคนำความรู้ความเข้าใจของการติดเชื้อโควิด-19 ไปประเมินความเสี่ยงของผู้ที่อยู่ในคอนโดมิเนียม ผู้ที่เข้าพักโรงแรมหรือเดินห้างสรรพสินค้าร่วมกับผู้ป่วยแล้ว จึงมีผู้สัมผัสใกล้ชิดความเสี่ยงสูง (High Risk Close Contact) เพียง 7 คนที่กรุงเทพฯ และเพียง 12 คนที่ระยองเท่านั้น นอกนั้นเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low Risk Close Contact) หรือไม่มีความเสี่ยงเลย เนื่องจากไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับแหล่งของเชื้อ

ความหวาดกลัวว่าจะแพร่เชื้อ

ความหวาดกลัวแบบที่สองคือความหวาดกลัวว่าจะแพร่เชื้อ เช่น เราอยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้ไปทำธุระที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ไปเที่ยวที่ระยอง แต่เมื่อมีเพื่อนบ้านเดินทางกลับมาจากสองสถานที่นี้ในช่วงสัปดาห์ก่อน เราก็อดไม่ได้ที่จะกลัวว่าเขาจะมาแพร่เชื้อต่อให้กับเรา 

แต่ช้าก่อน! การติดเชื้อต้องมีแหล่งของเชื้อ (ตามข้อ 1 ที่ผมสรุป) เราจึงต้องถามเขาก่อนว่าได้พบกับผู้ป่วยหรือไม่ ถ้า ‘ไม่’ ก็ไม่มีทางที่จะได้รับเชื้อมาได้ เราสามารถอยู่ร่วมกับเขาตามปกติ

แต่ถ้า ‘ใช่’ ก็ยังต้องถามอีกว่าเจอกันแบบไหน เดินสวนกัน โบกมือทักทายกันโดยเว้นระยะเกิน 1 เมตร ก็ถือเป็นความเสี่ยงต่ำ สวมหน้ากากอนามัยหรือเปล่า อยู่ในลิฟต์ด้วยกันโดยสวมหน้ากากอนามัยก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงต่ำ ไม่อย่างนั้นแพทย์และพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยต้องกลายเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงกันแล้วทุกคน แต่เพราะแพทย์และพยาบาลสวมชุดป้องกันตามมาตรฐาน ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจึงถือว่าต่ำ

ผมเข้าใจว่าการประกาศให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ และระยองต้องกักตัว 14 วันของผู้ว่าราชการบางจังหวัดได้แนวคิดมาจากช่วงที่มีการระบาดเป็นวงกว้างในกรุงเทพฯ จึงต้องกักตัวประชาชนที่เดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อสังเกตอาการ แต่ในขณะนี้ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยในประเทศนานเกือบ 2 เดือนแล้ว การประกาศกักกันโรคจึงไม่ควรเหมารวมทั้งจังหวัด แต่ควรเฉพาะเจาะจงตามสถานที่และเวลาตามหลักระบาดวิทยาให้มากที่สุด

เช่นเดียวกันกับประกาศปิดโรงเรียนนอกจังหวัดระยอง เพราะมีนักเรียนเข้าพักโรงแรมเดียวกับทหารอียิปต์ สิ่งที่ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูควรทำคือปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อประเมินความเสี่ยงของนักเรียนคนนั้นก่อน หากมีความเสี่ยงสูงก็ต้องถูกกักกันโรค แต่ถ้ามีความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีความเสี่ยงก็ต้องให้ความมั่นใจกับผู้ปกครองและไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียนแต่อย่างใด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 กรมควบคุมโรคได้มีหนังสือชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเกี่ยวกับการดำเนินการใน ‘ผู้ใกล้ชิด’ กับ ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย’ อีกทอดหนึ่ง เช่น นักเรียนในโรงเรียนเดียวกับนักเรียนที่เข้าพักโรงแรมเดียวกับทหารอียิปต์ว่าผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูงถือเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อ ส่วนผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสฯ เสี่ยงต่ำถือว่าไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งทั้งสองกรณีไม่จำเป็นต้องปิดสถานที่ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนการตรวจหาเชื้อตามแนวทางของกรมควบคุมโรคจะดำเนินการเฉพาะ ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง’ เท่านั้น เพราะมีโอกาสได้รับเชื้อต่อจากผู้ป่วย และจะตรวจในระยะเวลาที่เหมาะสมคือตั้งแต่วันที่ 5 หลังการสัมผัสกับผู้ป่วยครั้งแรก เพราะต้องคำนึงถึงระยะฟักตัวของโรคด้วย 

แต่สิ่งที่ ศบค. กำลังทำอยู่ในตอนนี้คือตรวจหาเชื้อในทุกคนที่มีความกังวล รวมแล้ว 6,500 คน ซึ่งผลไม่พบเชื้อทุกคน แต่มีค่าใช้จ่าย x 2,500 บาทต่อคน หรือเท่ากับ 16 ล้านบาทแล้ว

ความหวาดกลัวทั้งสองแบบ ทั้งกลัวว่าจะติดเชื้อและกลัวว่าจะแพร่เชื้อ ทำให้เกิดความวิตกกังวลส่วนบุคคลและความเสียหายทางเศรษฐกิจของส่วนรวม ผมไม่ได้เสนอว่าไม่ต้องหวาดกลัวนะครับ แต่เราควร ‘วางความกลัวไว้ตรงนั้น’ ด้วยความรู้ความเข้าใจการติดเชื้อที่เรารู้จักโควิด-19 มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ตามหลักการประเมินความเสี่ยง 3 ข้อที่ผมสรุปมาให้จำง่าย หากมีความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีความเสี่ยง เราก็ ‘ใช้ชีวิตกันตรงนี้’ ด้วยความปกติ (ใหม่) ครับ

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Let's block ads! (Why?)



"ความหวาดกลัว" - Google News
July 21, 2020 at 08:03AM
https://ift.tt/3fPKAdn

วางความกลัวไว้ตรงนั้น เพราะเราใช้ชีวิตกันตรงนี้ ภูมิคุ้มกันโควิด-19 ที่เราจำเป็นต้องมีร่วมกัน - thestandard.co
"ความหวาดกลัว" - Google News
https://ift.tt/2XpGqCo

No comments:

Post a Comment