Pages

Tuesday, July 21, 2020

“ไอลอว์” หนุนไม่ถ่ายรูปม็อบแบบโคลส-อัป แต่วอนสื่ออย่าเบลอหน้า อ้างไม่ใช่อาชญากร - ผู้จัดการออนไลน์

hitagajah.blogspot.com


ผู้จัดการไอลอว์ เสนอแนวคิดไม่ถ่ายรูปผู้ชุมนุมแบบหน้าชัด เว้นแกนนำ หรือคนถือป้ายโชว์ แต่วอนสื่ออย่าเบลอภาพ อ้างไม่ใช่อาชญากรหรือเหยื่อข่มขืน “สุนัย ผาสุข” ขาประจำองค์กรสิทธิ์ ด่าไทยพีบีเอส “เบลอแทบทุกอย่าง”

วันนี้ (21 ก.ค.) นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงาน iLaw ต้องติดตามสังเกตการณ์ชุมนุม บันทึกข้อมูลรายงานการปิดกั้นโดยเจ้าหน้าที่ ติดตามคนถูกจับ วิ่งตามไป สน. ค่ายทหาร ตามถ่ายทะเบียนรถ และไปจบที่ศาล หรือเรือนจำ จนมาถึงวันนี้ เมื่อได้ประชุมปรึกษาหารือในทีมแล้ว สรุปประเด็นหลักการการถ่ายภาพและเผยแพร่ภาพผู้ชุมนุม ดังนี้

ในการชุมนุมสาธารณะทุกเรื่อง เราจะพยายาม “ไม่” ถ่ายภาพ “ผู้เข้าร่วม” การชุมนุมแบบ Close Up ทำนองเห็นหน้าตาเห็นบุคลิกชัดเจน ลักษณะที่สมัยชุมนุม กปปส. ชอบมีภาพออกมาว่า มีหนุ่มหล่อสาวสวยมาเยอะแยะ นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะทำ เพราเห็นว่าเป็น “มารยาท” และไม่มีประโยชน์ในทางสาธารณะ ไม่ใช่เพราะว่า การทำเช่นนั้นจะผิดกฎหมายใด

กรณีการถ่ายภาพรวมๆ ของการชุมนุม เพื่อให้เห็นว่า เกิดอะไรขึ้น ให้เห็นบรรยากาศการชุมนุม จะพยายามถ่ายภาพมุมกว้างๆ ซึ่งอาจเห็นหน้าคนบ้าง เป็นตัวเล็กๆ ไกลๆ หรือถ้าเป็นไปได้ก็เป็นมุมจากด้านหลังของคน แต่เราจะถ่ายภาพหน้าบุคคลให้เห็นในกรณีต่อไปนี้

1. เป็นคนที่ถือไมโครโฟน เพื่อปราศรัย หรือพูดในฐานะผู้จัดการชุมนุม โดยถือว่า ผู้ที่ถือไมโครโฟนนั้นคาดหมายได้อยู่แล้วว่า ตัวเองจะถูกถ่ายภาพ เข้าใจ และตัดสินใจว่า พร้อมอยู่ในสถานะนั้น

2. เป็นคนที่ยืนถือป้าย หรือแสดงสัญลักษณ์ ในลักษณะที่ตั้งใจให้ตัวเองโดดเด่นกว่าผู้เข้าร่วมทั่วไป และเมื่อมีกล้องหลายตัวกำลังถ่าย เขาก็จงใจยืนให้ถ่ายเช่นนั้น โดยถือว่า เขาตั้งใจอยากแสดงออกในฐานะของเขา และเราต้องเคารพเจตนาในการแสดงออกเช่นนั้น ช่วยกันเผยแพร่เท่าที่เห็นสมควร

3. กรณีการชุมนุมของคนจำนวนไม่มาก หรือมีการเดินขบวนแล้วต้องถ่ายภาพเดินขบวน ไม่มีทางที่จะถ่ายให้ไม่เห็นหน้าใครได้ ก็อาจจะต้องถ่ายแล้วเห็นหน้าด้วย แต่ไม่ได้เน้นเจาะเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับกรณีที่มีบางคนห่วงใยเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ที่มาร่วมชุมนุม ขอชี้แจงรายประเด็น ดังนี้

ความปลอดภัย ไม่เคยปรากฏว่า ตำรวจใช้ภาพถ่ายจากสื่อมวลชน หรือที่ประชาชนถ่ายกันเอง เป็นหลักฐานในการติดตาม คุกคาม จับกุม ดำเนินคดี เท่าที่เคยเห็นหลักฐานปรากฏต่อศาลว่า ใครไปร่วมชุมนุมบ้าง เป็นภาพที่ตำรวจให้ “สาย” ถ่ายมาเองทั้งหมด และทุกการชุมนุมตำรวจก็มีภาพคนไปร่วมมากมายตามที่ต้องการอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเอาภาพจากสื่ออื่นๆ มาประกอบ ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ไลฟ์ของผู้ชุมนุมนั่นเอง

ตรงกันข้าม หากเป็นกรณีที่คนไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ถูกตำรวจควบคุมตัว มีตำรวจเข้ามาพูดคุยเจรจาด้วย หรือตำรวจพาเดินทางไปด้วย การที่มีภาพถ่ายเห็นหน้าของเขาชัดเจน ช่วยพิสูจน์ว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิด และเมื่อมีหลักฐานเป็นภาพชัดเจนว่า คนนั้นๆ อยู่ในการควบคุมตัวของรัฐจริง เมื่อเวลาเท่าไร ภาพเหล่านี้สำคัญที่จะคุ้มครองความปลอดภัยของคนที่ถูกถ่ายภาพได้มากกว่า

ความเป็นส่วนตัว คนที่มาร่วมชุมนุมย่อมมีภาระที่ห่วงกังวลกับความเป็นส่วนตัวของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งในยุคโควิด การใส่หน้ากากไปร่วมชุมนุมเป็นพฤติกรรมปกติที่ทุกคนทำได้ ที่ช่วยปิดบังความชัดเจนของตัวตนไประดับหนึ่ง การเลือกใส่หมวก หรือใส่อื่นๆ ก็ได้เช่นกัน การเลือกยกมือปิดหน้า ยกป้ายบังหน้า ในจังหวะที่กล้องถ่ายก็เป็นสิ่งที่เลือกได้ ซึ่งแต่ละคนหวงแหนความเป็นส่วนตัวไม่เท่ากันก็มีสิทธิเลือกโดยตัวเอง และคนถ่ายก็เคารพโดยการถ่ายไปตามที่เจ้าตัวเลือก พร้อมกับเว้นที่ให้คนที่ต้องการเปิดเผยตัวเองมีพื้นที่ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ต้องคำนึงด้วยว่า การชุมนุมคือการแสดงออกในที่สาธารณะ คนที่ตัดสินใจเข้าร่วมการแสดงออกก็ต้องยอมสละความเป็นส่วนตัวไปแล้วระดับหนึ่ง จริงอยู่ที่ว่า เราอยู่ในรัฐที่ไม่ปกติ จะคาดหวังให้คนออกมาเปิดหน้าเย้วๆ บนถนนเต็มที่คงไม่ง่ายนัก นั่นจึงมีกติกาสำหรับคนถ่ายภาพตามด้านบน เพื่อพยายามปรับตัวให้เข้ากับรัฐแบบนี้แล้ว ส่วนที่เหลือก็ต้องเป็นภาระของผู้เข้าร่วมชุมนุมบ้างเช่นกัน

ภาพลักษณ์การชุมนุม การเผยแพร่ภาพโดยเบลอหน้าคน หรือเซ็นเซอร์ใบหน้า เป็นสิ่งที่ควรทำในกรณีที่คนๆ นั้นถูกกล่าวหาว่า ทำอะไรผิดบางอย่าง หรือได้รับความเสียหายบางอย่าง เช่น ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือถูกจับกุมฐานอะไรก็ตาม ความรับรู้ของการถูกเบลอหน้านั้น คือ ผู้ที่ถูกเบลอหน้ากำลังเกี่ยวข้องกับอะไรที่ไม่ดีไม่งามหรือการเผยแพร่ภาพของเขาจะทำให้เขาเสียหาย ซึ่งการชุมนุมสาธารณะ ไม่ใช่! คนไปแสดงออกควรมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้รับการยกย่อง ไม่ใช่ถูกเบลอหน้า

การมีภาพเบลอหน้าออกไป จะสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้ชุมนุมกลายเป็นอาชญากร คล้ายกับว่า การชุมนุมเป็นสิ่งที่ผิด หรือเป็นสิ่งที่น่ากลัว ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของการเผยแพร่ภาพ การเบลอหน้าจะไม่เกิดขึ้นเด็ดขาด แต่เพื่อเคารพความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยจึงควรช่วยกันตั้งแต่การออกแบบมุมที่จะกดชัตเตอร์ ตามที่กล่าวไว้ข้างบนแล้ว

ในรัฐที่ไม่ปกติ ตำรวจและฝ่ายความมั่นคง ได้สร้างความหวาดกลัวทำให้ผู้ออกมาร่วมชุมนุมรู้สึกไม่ปลอดภัย คนที่ติดตามข่าวสารก็รู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งรัฐป็นฝ่ายผิดในกรณีนี้ การเบลอหน้า หรือเซ็นเซอร์ใบหน้าผู้ชุมนุม เป็นการยอมรับความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นอย่างไม่ชอบธรรม และโยนภาระให้กับผู้ชุมนุมและผู้ถ่ายภาพต้องยอมรับเอาความหวาดกลัวนี้มา ไม่ใช่การยืนยันสิ่งที่ควรจะทำได้ในภาวะปกติ

เสรีภาพสื่อมวลชน สื่อที่ดีในสภาวะปกติควรจะมีเสรีภาพที่จะเลือกรายงานและเผยแพร่ไปตามสิ่งที่เห็น ที่เกิดขึ้นจริง การพยายามแทรกแซงและบอกว่าอะไรรายงานได้หรือไม่ กระทบต่อการตัดสินใจโดยอิสระของสื่อนั้น ซึ่งอาจจะทำได้เพื่อการเคารพสิทธิหรือความปลอดภัยของบุคคล ประเด็นนี้ได้อธิบายไปหมดแล้วข้างต้น และต้องเข้าใจด้วยว่ามันมีคุณค่าทั้งสองฝั่งที่ต้องแลกกัน

ในสภาวะบ้านเมืองที่ไม่ปกติ สิ่งที่สื่อควรจะช่วยกันทำ คือ การ “ดันเพดาน” เสรีภาพ ให้ค่อยๆ ขยายออก อะไรที่รัฐพยายามทำให้เป็นเรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องไม่ให้ทำ สื่อควรจะช่วยกันฉายภาพว่า เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำได้ และการรายงานข่าวและภาพการชุมนุมเป็นหนึ่งในนั้น การกดดันไปที่สื่อมากๆ มีแต่โอกาสที่ บก. จะเลือกเส้นทางที่ “ขี้เกียจยุ่ง” โดยการไม่รายงานอะไรเลย มากกว่าที่จะช่วยกันดันเพดานให้ขยายออก

เมื่อตำรวจและรัฐพยายามทุกวิถีทางเพื่อบีบเพดานเสรีภาพให้หดแคบลง โดยการติดตาม คุกคาม ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม การเรียกร้องให้สื่อไม่รายงานภาพผู้ชุมนุม เป็นการเรียกร้องให้สื่อและตัวคนเรียกร้องเองยอมรับเพดานเสรีภาพที่ถูกบีบแคบลงโดยรัฐ ซึ่งเป็นการเรียกร้องที่ผิดทิศทาง ควรจะต้องเรียกร้องกับตำรวจและรัฐให้เลิกพฤติกรรมแบบนี้แล้วให้สื่อรายงานได้เต็มที่ ถึงจะไปสู่สังคมที่ปรารถนา

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป เช่น นายบูรพา เล็กล้วนงาม สื่อมวลชนอาวุโส อดีตบรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์เอเชียอัปเดต กล่าวว่า “เหมือนเป็นการตีกรอบเสรีภาพในการทำงาน”

ส่วน นายสุนัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย โพสต์ความคิดเห็นระบุว่า “เห็นด้วยครับ หลักปฏิบัติเดียวกัน” และตำหนิการทำงานของสื่อโทรทัศน์บางช่อง ระบุว่า “แนวทางอย่างที่ไทยพีบีเอสใช้อยู่เป็นตัวอย่างของการกดเพดานเสรีภาพให้ต่ำลง เบลอแทบทุกอย่าง”


Let's block ads! (Why?)



"ความหวาดกลัว" - Google News
July 21, 2020 at 02:13PM
https://ift.tt/3jrIceX

“ไอลอว์” หนุนไม่ถ่ายรูปม็อบแบบโคลส-อัป แต่วอนสื่ออย่าเบลอหน้า อ้างไม่ใช่อาชญากร - ผู้จัดการออนไลน์
"ความหวาดกลัว" - Google News
https://ift.tt/2XpGqCo

No comments:

Post a Comment