เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่สวนครูองุ่น กรุงเทพฯ ครอบครัวของวันเฉลิมและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรม ‘หนึ่งเดือนกับการแสวงหาความจริง #saveวันเฉลิม’ เนื่องจากครบรอบ 1 เดือนที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่อยู่ระหว่างลี้ภัยหายตัวไปจากด้านนอกอพาร์ตเมนต์ของเขาในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยภายในงานมีการแสดงดนตรีจากวงสามัญชน และผู้เข้าร่วมงานได้ถ่ายรูปเพื่อแสดงออกถึงการเรียกร้องให้ค้นหาความจริงในกรณีของวันเฉลิม
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อ่านแถลงปฏิบัติการด่วนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งมีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซนแห่งประเทศกัมพูชาว่าขอเรียกร้องให้ดำเนินงานตามมาตรการทั้งปวงที่จำเป็น ได้แก่
- ประกันให้มีการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งด่วน รอบด้าน และโปร่งใสต่อข้อกล่าวหาว่ามีการลักพาตัววันเฉลิม และแจ้งให้ครอบครัวของเขาทราบถึงการดำเนินการทั้งหมดเพื่อพิสูจน์ทราบว่าเขาอยู่ที่ไหน
- ให้นำตัวผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมครั้งนี้เข้าสู่การพิจารณาคดีที่เป็นธรรมโดยศาลพลเรือนแบบปกติ และไม่ให้ใช้โทษประหารกับพวกเขา
- ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกัมพูชาเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฯ ดังกล่าว และต้องไม่ส่งตัววันเฉลิมกลับประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของท่านที่จะต้องไม่เข้าร่วมในการบังคับส่งกลับบุคคลไปยังสถานที่ที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
จากนั้นเป็นการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘ไกลบ้าน’ กำกับโดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ซึ่งเป็นเรื่องของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนที่ลี้ภัยการเมืองหลังการรัฐประหารในปี 2557
ต่อมาเป็นเวทีเสวนา ‘หนึ่งเดือนกับการแสวงหาความจริง #saveวันเฉลิม’ ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว The Reporters
สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม กล่าวว่าตนเองพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ทราบข่าวว่าวันเฉลิมเป็นอย่างไร มีการยื่นเอกสารทั้งทางไทยและกัมพูชา ขณะนี้ทางอัยการสูงสุดให้ความเห็นว่าต้องรอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษก่อน ซึ่งยื่นเรื่องไปดีเอสไอวันที่ 25 มิถุนายน โดยเขาใช้เวลา 15 วันในการพิจารณาว่า1 จะรับคดีไหม ถ้าดีเอสไอไม่รับเป็นคดีพิเศษ เราก็ไปต่อยาก หนทางที่จะตามหาวันเฉลิมก็ริบหรี่ลงไป ส่วนในกัมพูชามีการแต่งตั้งทนายไปแจ้งความกับทางการกัมพูชาแล้ว เพราะตั้งแต่เกิดเรื่อง ทางการกัมพูชาก็ปฏิเสธ หน่วยงานรัฐไทยก็บอกว่าทำตามกระบวนการ ผ่านไป 1 เดือนไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย จึงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ
“เราพยายามทุกทางเพื่อตามหาน้อง อยากได้คำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น ใครทำอะไรกับวันเฉลิม วันเกิดเหตุเราเป็นคนคุยโทรศัพท์กับเขา จึงรู้ว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุ จนได้รับการยืนยันจากเพื่อนเขาที่กัมพูชาว่าวันเฉลิมถูกอุ้มหายไป เรามีกล้องวงจรปิดและทะเบียนรถ จึงให้เพื่อนที่กัมพูชาพยายามตามเรื่องให้ เพราะคิดว่าถ้าตามได้เร็วเขาก็มีโอกาสรอด แต่ตอนนี้ผ่านมา 30 วันแล้ว ความหวังริบหรี่มาก แต่ภาวนาขอให้เขามีชีวิตรอด
“ไม่ว่าสภาพไหน เราอยากได้เขากลับมาอย่างปลอดภัย เราอยากได้คำยืนยัน ถ้าเขาเสียชีวิต เราก็อยากรู้ เราอยากเอาเขากลับมาทำพิธีทางศาสนา ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราก็อยากพาเขากลับบ้าน”
สิตานันเล่าว่าวันเฉลิมลี้ภัยช่วงรัฐประหารในปี 2557 โดยบอกว่าต้องออกนอกประเทศ วันเฉลิมทำธุรกิจหลายอย่างที่กัมพูชา เช่น ร้านอาหาร การเกษตร เนื่องจากวันเฉลิมเป็นที่รักของหลายคน จึงมักมีคนมอบหมายงานให้ทำ วันเฉลิมเป็นคนไม่มีพิษมีภัย และไม่มีปัญหาเรื่องธุรกิจกับใคร จึงไม่คิดมาก่อนว่าจะเกิดเหตุเช่นนี้
“ช่วง 2 ปีหลังมานี้จะพูดกับน้องเสมอว่าถ้าไม่ลี้ภัยไปยุโรปก็อยู่ทำธุรกิจที่กัมพูชา ทำมาหากิน ไม่ต้องไปยุ่งกับใคร การที่วันเฉลิมต้องไปอยู่กัมพูชาทำให้ชีวิตเขาเสียโอกาส ทั้งที่เขาสามารถทำอะไรได้เยอะ เขาเอาชีวิตตัวเองไปแลกกับความยุติธรรมและประชาธิปไตย เราบอกเขาเสมอ แต่ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น”
สิตานันยอมรับว่าก่อนหน้านี้เธอไม่เคยรู้ว่าที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยกี่รายที่ถูกอุ้มหาย เมื่อเกิดเหตุกับวันเฉลิม เธอจึงย้อนกลับไปดูกรณีของผู้ลี้ภัยการเมือง 8 คนที่สูญหาย และสะเทือนใจว่ามีครอบครัวผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่เผชิญชะตากรรมเช่นเธอ และยังมีผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านอีกมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR เพราะติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เธอไม่อยากให้ชีวิตของวันเฉลิมสูญเปล่า จึงอยากช่วยเรียกร้องสิทธิให้ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ และอยากให้คดีของคนสูญหายรายอื่นได้รับความยุติธรรมเช่นกัน
.
และสุดท้ายหากสื่อสารกับคนที่นำตัววันเฉลิมไปได้ สิตานันกล่าวว่า “ขอให้ปล่อยตัวต้าร์มาเถอะ ไม่ว่าในสภาพไหน ขอให้เขาปลอดภัย หรือถ้าเป็นศพ ก็ขอให้ยืนยันมาว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ไม่อย่างนั้นเราและครอบครัวจะไม่สามารถจะใช้ชีวิตต่อได้ ไม่รู้ว่าจะต้องตามหาถึงวันไหน ผู้ลี้ภัยที่หายไป 8 รายก่อนหน้านี้ก็เห็นศพแค่ 2 ราย ที่เหลือไม่ทราบชะตากรรม ถ้าวันเฉลิมมีชีวิตอยู่ก็ปล่อยออกมา ถ้าตายก็ขอให้บอกว่าเขาเสียชีวิตแล้ว”
ด้าน วสุ วรรลยางกูร ลูกชายของ วัฒน์ วรรลยางกูร เล่าว่าพ่อของตนเองและวันเฉลิมมีชะตากรรมคล้ายกัน คือต้องลี้ภัยไปประเทศกัมพูชาหลังการรัฐประหารในปี 2557 ทำให้วัฒน์ได้เจอกับวันเฉลิมและสนิทกัน ต่อมาวัฒน์ย้ายไปประเทศลาว และทำเรื่องลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศส
“สำหรับผู้ลี้ภัย เมื่อจำเป็นต้องออกจากประเทศ เขาจะเลือกไปที่ไหนก็ได้ที่สะดวกและปลอดภัย จึงเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นการขอสถานะผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยถึงชีวิตก็ยากที่จะติดตามและหาคนรับผิดชอบ เช่นที่มีผู้ลี้ภัยถูกอุ้มหายในกรณี สุรชัย แซ่ด่าน กับภูชนะและกาสะลองที่พบศพในแม่น้ำโขง เป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการอุ้มหายและฆาตกรรมผู้ลี้ภัย ทำให้เราตระหนักว่าถ้าอยู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานะล่องหน ไม่มีการรับรอง อาจเจอชะตากรรมเช่นนั้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้มากนัก เพราะจะกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศ
“การลี้ภัยอยู่ประเทศในอาเซียนไม่มีที่ไหนปลอดภัย การนอนฝันร้ายไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้ลี้ภัย เมื่อเราไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ถึงวันไหน ถ้ามีช่องทางให้ผู้ลี้ภัยได้รับการรับรองและได้สถานะ จะช่วยให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัยของเขาบรรเทาลงไปได้บ้าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยังกระทบถึงครอบครัวของผู้ลี้ภัย ทั้งความอึดอัดกังวลถึงความปลอดภัยของคนที่เรารัก และการตื่นมาเจอข่าวว่าคนที่เรารักไม่อยู่แล้ว
“พ่อผมยังโชคดีที่เดินทางไปประเทศที่สามแล้ว แต่ที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้านเรา ความไกลบ้านทำให้เรากังวล หวาดกลัว ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้กลับมาบ้านอีก ขณะที่ครอบครัวของผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านของเรา แต่มีสักวันไหมที่ประเทศนี้ให้ความเป็นบ้านแก่เราได้จริงๆ”
วสุเล่าว่าเมื่อวัฒน์รู้ว่าวันเฉลิมหายไปก็ห่วงใยมาก 1 สัปดาห์ก่อนการหายตัวไป วัฒน์ยังแนะนำให้วันเฉลิมย้ายไปประเทศที่สาม เพราะกังวลในสถานการณ์และมีความเป็นห่วงเป็นใยกัน โดยก่อนหน้านี้วัฒน์เองก็ไม่คิดว่าวันเฉลิมจะตกเป็นเป้า เพราะเป็นคนอายุไม่มากที่เคลื่อนไหวอย่างสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง แต่วัฒน์มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความหวาดกลัวให้คนรุ่นใหม่ในประเทศนี้ เมื่อใครบางคนหายไปด้วยอำนาจที่มองไม่เห็น
“พ่อเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้จะทำให้คนกล้าออกมาพูดถึงสิทธิที่จะอยู่ประเทศนี้อย่างภาคภูมิใจ อยากให้เปลี่ยนจากความหวาดกลัวเป็นความกล้าที่จะออกมาพูดว่าไม่ควรมีใครถูกกระทำเช่นนี้จากสิ่งที่เขาพูดและทำ กำลังใจที่ทุกคนจะมอบให้ผู้ลี้ภัยและครอบครัวของผู้ลี้ภัยได้ดีที่สุดคือการช่วยกันตามหาว่าวันเฉลิมอยู่ที่ไหน และใครเป็นคนทำให้หายไป เรื่องที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ที่มีความเห็นต่างจากคนที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ เราต้องออกมาตั้งคำถาม ทำให้ความจริงปรากฏ อย่างน้อยวันที่เราพบความจริงจะคลายปมในใจให้เราหายใจออกในประเทศนี้ได้บ้าง” วสุกล่าว
จากนั้นสิตานันอ่านแถลงการณ์ของครอบครัวในวาระครบรอบ 1 เดือนการหายตัวไปของวันเฉลิม ความตอนหนึ่งว่า “วันเฉลิมถูกอุ้มหายสาบสูญไปตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 บัดนี้ครบ 30 วันแล้ว ทางครอบครัวได้ประสานงานไปยังบุคคลและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายและช่องทางอื่นๆ เพื่อตามหาวันเฉลิม ล่าสุดทางครอบครัวได้แต่งตั้งทนายความที่กัมพูชาเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกัมพูชาอีกทางหนึ่ง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางการกัมพูชาจะให้ความร่วมมือด้วยดีในการสอบสวนอย่างจริงจังเพื่อนำตัวนายวันเฉลิมกลับมาอย่างปลอดภัย และทำความจริงให้ปรากฏว่าอะไรคือมูลเหตุของการอุ้มหาย ใครเป็นผู้กระทำ และนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม
“การอุ้มหายสร้างความหวาดกลัวให้แก่ทุกคน เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เมื่อไรก็ได้ และที่ใดก็ได้ ทางครอบครัวหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมจะเป็นการอุ้มหายครั้งสุดท้าย การอุ้มหายเคยเกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยก่อนหน้านี้เป็นจำนวน 8 คน วันเฉลิมเป็นเหยื่อรายที่ 9 ที่ถูกอุ้มหายขณะที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสามารถพบศพได้เพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งสภาพศพแสดงให้เห็นว่าถูกกระทำอย่างโหดร้ายเหลือเกิน
“อย่างไรก็ดี ทางครอบครัวของเรายังตั้งความหวังว่าผู้ก่อเหตุรวมถึงผู้สั่งการจะมีความเมตตาต่อวันเฉลิม และปล่อยตัวเขาให้กลับคืนสู่อ้อมอกคนในครอบครัวและคนที่รักเขา” สิตานันกล่าว
ปิดท้ายด้วยผู้เข้าร่วมงานช่วยกันจุดเทียนแห่งความหวัง แสดงสัญลักษณ์แห่งศรัทธาเพื่อสิทธิมนุษยชน และร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าไม่ควรมีใครถูกอุ้มหาย ทำให้เสียชีวิต หรือถูกดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาล บุคคลเหล่านั้นเพียงแค่ใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตราบใดที่การแสดงออกนั้นไม่สร้างความเกลียดชังหรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในสังคม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
"ความหวาดกลัว" - Google News
July 05, 2020 at 07:18AM
https://ift.tt/31KlAA1
หนึ่งเดือน 'วันเฉลิม' หาย พี่สาวหวังทราบชะตากรรม ขอความยุติธรรมให้ผู้สูญหาย - thestandard.co
"ความหวาดกลัว" - Google News
https://ift.tt/2XpGqCo
No comments:
Post a Comment