รัฐบาลฮ่องกงประกาศเลื่อนการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เดิมจะมีขึ้นในเดือน ก.ย.นี้ ออกไปเป็นเวลา 1 ปี ชี้มีความจำเป็นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ฮ่องกงกำลังเผชิญปัญหายอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้น โดยวันนี้ (31 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 121 คน
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านกล่าวหาว่ารัฐบาลฉวยโอกาสให้ข้ออ้างเรื่องโรคระบาดในการป้องกันไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง
นางแคร์รี แลม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวว่าเธอจะใช้อำนาจฉุกเฉินเพื่อเลื่อนกำหนดจัดการเลือกตั้งออกไป พร้อมชี้ว่านี่เป็น "การตัดสินใจที่ยากเย็นที่สุดเท่าที่ดิฉันทำในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา"
"การเลื่อนกำหนดครั้งนี้ตั้งอยู่บนเหตุผลด้านความปลอดภัยของประชาชนโดยแท้ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการเมืองแต่อย่างใด" เธอกล่าว
สถานการณ์โควิด-19 ในฮ่องกงรุนแรงเพียงใด
ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของฮ่องกงทะลุหลัก 100 คนต่อเนื่องกันมา 10 วันแล้ว ส่งผลให้ขณะนี้ฮ่องกงมียอดสะสมของผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กว่า 3,200 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 27 คน
แม้ยอดผู้ติดเชื้อโดยรวมของฮ่องกงจะถือว่ายังต่ำกว่าในหลายประเทศ แต่การติดเชื้อที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นครั้งนี้ ก็ได้สร้างความกังวลให้หลายฝ่าย เพราะมีขึ้นหลังจากไม่พบการติดเชื้อภายในท้องถิ่นมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางการฮ่องกงได้บังคับใช้มาตรการควบคุมโรคใหม่ที่เข้มงวด โดยห้ามประชาชนจับกลุ่มชุมนุมกันเกิน 2 คน
หลายฝ่ายชี้ว่า ขณะนี้ฮ่องกงกำลังเผชิญกับการระบาด "ระลอกที่ 3" ส่วนนางแลม แสดงความกังวลว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้โรงพยาบาลในฮ่องกงต้องประสบปัญหาผู้ป่วยโควิด-19 ล้นโรงพยาบาล
เธอกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในฮ่องกงขณะนี้ "เลวร้ายที่สุดนับแต่เดือน ม.ค. เพราะมีการระบาดในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง"
นางแลม ชี้ว่า การที่ฮ่องกงมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 4.4 ล้านคน จะทำให้การเลือกตั้งมี "การชุมนุมขนาดใหญ่ และเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ ในขณะที่มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะเป็นอุปสรรคต่อการออกหาเสียงของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้ง"
นอกจากนี้ ผู้ว่าการฯ ฮ่องกง ยังชี้ว่า การจัดให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดเดิมในเดือน ก.ย.นี้ จะก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งวัยชรา นอกจากนี้ ผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่พำนักอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ และในต่างประเทศ จะไม่สามารถเดินทางไปลงคะแนนได้ในขณะที่มีการบังคับใช้มาตรการปิดพรมแดนเพื่อควบคุมโรค
ด้านรัฐบาลจีนระบุว่า สนับสนุนการตัดสินใจครั้งนี้ ซึ่งมีขึ้นโดยยึดประโยชน์ของประชาชน และสถานการณ์จริงในฮ่องกง
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้น หลังจากเมื่อวาน (30 ก.ค.) ทางการฮ่องกงตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ 12 คน ที่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย โดยในกลุ่มผู้ที่ถูกห้ามลงสมัครรวมถึง นายโจชัว หว่อง และนายเลสเตอร์ ชุม นักเคลื่อนไหวชื่อดังด้วย ทำให้ความหวังของฝ่ายค้านในฮ่องกงที่จะชนะได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติต้องริบหรี่ลง
สมาชิกฝ่ายค้านหวังว่ากระแสความไม่พอใจของชาวฮ่องกงหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีน รวมทั้งความหวาดกลัวว่าเสรีภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันจะถูกลิดรอน จะแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงให้ได้ครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติในการเลือกตั้งเดือนก.ย.นี้
โดยในการเลือกตั้งสภาเทศบาลเมื่อปีที่แล้ว ปรากฏว่า พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง ได้ครองชัยชนะมากเป็นประวัติการณ์ในท้องที่ 17 เขต จากทั้งหมด 18 เขต
สภานิติบัญญัติสำคัญอย่างไร
สภานิติบัญญัติ มาจากภาษาอังกฤษว่า Legislative Council ซึ่งคนฮ่องกงเรียกสั้น ๆ ว่า LegCo ทำหน้าที่บัญญัติและแก้ไขกฎหมายของฮ่องกง ประกอบด้วยสมาชิก 70 คน แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 35 คนเท่านั้น ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
ส่วนอีก 30 คน เป็นผู้แทนของ "กลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ" โดยกลุ่มที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ภาคธุรกิจ ธนาคาร และการค้า จะลงคะแนนเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติในส่วนนี้เข้ามา โดยในอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักสนับสนุนรัฐบาลจีน
ส่วนอีก 5 คน มาจากสมาชิกสภาเขตที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน
ผู้ไม่เห็นด้วยเรียกระบบเช่นนี้ ซึ่งมีสมาชิกเพียงบางส่วนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ผู้ที่สนับสนุนระบบนี้บอกว่า มันช่วยไม่ให้เกิดลัทธิประชานิยมและปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจในฮ่องกง
"ความหวาดกลัว" - Google News
July 31, 2020 at 07:33PM
https://ift.tt/3jRqBNQ
โควิด-19 : ฮ่องกงเลื่อนเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ 1 ปี จาก “ความกังวล” โรคระบาด - บีบีซีไทย
"ความหวาดกลัว" - Google News
https://ift.tt/2XpGqCo
No comments:
Post a Comment